ขั้นตอนการทำปริญญานิพนธ์ (โปรเจ็กต์)

         ปริญญานิพนธ์ หรือ ที่หลายคนเรียกกันว่า โปรเจ็กต์ (project) หรือแม้แต่ พรอเจ็กต์  คือ รายงานที่นักศึกษาเขียนผลงานวิจัยหรือการทดลอง ที่ได้เรียบเรียงอย่างมีระบบแบบแผน และปริญญานิพนธ์ยังคงเป็นเอกสารบังคับในการจบการศึกษาอีกด้วยในหลักสูตรวิศวกรรมบัณฑิต ของ คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

         รูปแบบในการทำจะเป็นการทำงานกลุ่ม ค้นคว้าแบะวิจัย โดยจะจับกันกลุ่มละไม่เกิน 3 คน (หรืออาจจะทำงานเดี่ยว) ในหัวข้อวิจัยที่เลือกมา ไม่ว่าจะเลือกด้านไหนก็ตาม  ขั้นตอนการทำนั้นใช้เวลาประมาณ 1-2 ภาคการศึกษา ตามที่ปรากฏในหลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนง่ายๆ ได้ดังนี้ คือ หาหัวข้อวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษา ค้นคว้าในหัวข้อที่สนใจ เขียนปริญญานิพนธ์ และนำเสนอผลงานวิจัยต่อกรรมการ

หาหัวข้อวิจัย

            ในการหาหัวข้อวิจัยนั้น คิดง่ายๆ คือ อยากจะค้นคว้าเรื่องอะไร อยากจะมีความรู้เรื่องไหนเพิ่ม ในสาขาของวิศวกรรมอุตสาหการ เพียงแค่นั้น แต่ถ้ายังคิดไม่ได้ ก็ให้ลองอ่านขั้นถัดไปโดยเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาก่อน

เลือกอาจารย์ที่ปรึกษา

         ในขั้นตอนของการเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา เปรียบก็คือเลือกผู้ที่สามารถให้คำแนะนำเราได้ในงานวิจัยที่เราสนใจ ซึ่งหากใครยังไม่มีเรื่องที่สนใจเป็นพิเศษ ก็สามารถมาหาอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะให้ได้ ในขณะเดียวอาจารย์บางท่านมีงานวิจัยในมือ พวกเราก็สามารถเข้าไปช่วยอาจารย์ได้ทันทีเช่นกัน

         การเลือกอาจารย์นั้น ในขั้นแรกให้ดูว่าอาจารย์ท่านมีความถนัดในหัวข้อไหน โดยสืบค้นได้จาก ายชื่อคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งหากงานที่เราสนใจไปตรงกับความถนัดอาจารย์ งานที่เราทำจะเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีโอกาสที่เราจะเขียนปริญญานิพนธ์ได้เสร็จภายในเวลาน้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษา อย่างไรก็ตามหากเรื่องที่เราสนใจไม่ตรงกับความถนัดของอาจารย์ท่านไหนเลย สิ่งที่จะมองขั้นต่อไปคือ ให้เข้าไปดูว่าอาจารย์ท่านเชี่ยวชาญในแขนงไหน   จากนั้นให้จดรายชื่ออาจารย์มา 2-3 ท่าน และนัดเวลาเพื่อไปขอเข้าพบ พูดคุยว่าอาจารย์สนใจในหัวข้อที่เราเลือกหรือไม่ ซึ่งหากเข้าไปคุยแล้วคิดว่าหัวข้อไม่ตรงกันนัก ก็ขอคำปรึกษาอาจารย์ว่าจะแนะนำให้ไปขอคำแนะนำจากอาจารย์ท่านไหนต่อ

ค้นคว้าในหัวข้อที่สนใจ

           เมื่อได้หัวข้อวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว ขั้นถัดไปคือการเริ่มวางแผนว่างานวิจัยของเราจะต้องทำอะไรบ้าง โดยวางช่วงระยะเวลาทำงานทั้งหมดว่าจะเริ่มจากการทำอะไร ในช่วงเดือนไหน และวางแผนจะทำอะไรต่อ จนถึงทำเสร็จเดือนไหน โดยเข้าปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษา อย่างน้อยอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ซึ่งหากเวลาไม่สะดวกให้พยายามอย่าห่างจากอาจารย์ที่ปรึกษาเกินเดือนละหนึ่งครั้ง

           โดยทั่วไปในการทำงานวิจัยจะเริ่มต้นด้วยการกำหนดปัญหาและจุดประสงค์ของงานให้ชัดเจนก่อน และตามด้วยการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นักศึกษาได้ไอเดียว่าควรจะเริ่มทิศทางไหนก่อนที่จะเริ่มลงมือทำ ในส่วนขั้นตอนการลงมือทำก็จะหลากหลายขึ้นอยู่กับหัวข้องาน ไม่ว่า การทำแล็บ การเข้าไซต์งานเก็บตัวอย่าง การทำสำรวจ การทำแบบสอบถามความคิดเห็น การสร้างโมเดล การสร้างซิมิวเลชัน ฯลฯ โดยเมื่อทำเสร็จสิ้นจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และเขียนสรุปต่อไป เตรียมพร้อมต่อการนำเสนอต่อคณะกรรมการ

เขียนปริญญานิพนธ์ และนำเสนอผลงานวิจัยต่อกรรมการ

          ขั้นตอนนี้จะเป็นข้อที่หลายคนกลัวและกังวลมากที่สุด เพราะเปรียบเสมือนการสอบไฟนอลของวิชาเลยทีเดียว หลังจากที่เราค้นคว้าเสร็จสิ้น เราก็จะนำข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นงาน จุดประสงค์การทำ การศึกษางานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการทำ และผลวิเคราะห์ มาเขียนเป็นรูปเล่มปริญญานิพนธ์ ซึ่งความหนาของเล่มก็ไม่จำกัดว่าจะต้องหนาแค่ไหน บางกลุ่มเขียนแค่ 30 หน้า ขณะที่บางกลุ่มเขียนมากกว่า 100 หน้าเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อทำการเขียนเสร็จและได้รับการยอมรับจากอาจารย์ที่ปรึกษา ก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอนำเสนอผลงานต่อกรรมการ โดยนัดวันและเวลาให้พร้อม

               ในการนำเสนอผลงานนั้น ทางกลุ่มจะทำการจัดเตรียมการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำพรีเซนเตชัน อย่าง PowerPoint, Impress หรือ Keynote หรือในรูปแบบที่กลุ่มถนัด โดยอาจจะนำไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูก่อนวันนำเสนอ ซึ่งเนื้อหาก็จะสอดคล้องกับตัวเล่มปริญญานิพนธ์ ที่มีตั้งแต่ บทนำ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการวิจัย การวิเคราะห์ และบทสรุป โดยเวลาที่จะนำเสนอนั้นจะอยู่ประมาณ 30 นาที พยายามไม่ขาดไม่เกิน ซึ่งเมื่อทางกลุ่มนำเสนอเสร็จ คณะกรรมการจะเริ่มสอบถามในหัวข้อที่สงสัย และทางกลุ่มจะเป็นผู้ตอบ

                เมื่อนำเสนอและตอบคำถามเสร็จ ทางคณะกรรมการจะทำการประชุมว่ากลุ่มนี้ควรจะผ่านหรือไม่ และถ้าผ่านจะได้เกรดอะไร ไม่ว่าจะเป็น A, B, C, D หรือถ้าหากไม่ผ่านอาจจะให้เรียกมาสอบใหม่ หรือให้ F ในวิชา Project 1 , 2  และให้ไปทำงานวิจัยในหัวข้ออื่นมาในภาคการศึกษาถัดไป ซึ่งเกรดที่ดีจะขึ้นอยู่กับ การนำเสนอที่ดี เนื้อหางานที่ดี และการตอบคำถามที่ดี

คำถามที่ถูกถามบ่อย

เริ่มทำโปรเจ็กต์เมื่อไร

             ถ้ามีเวลาและโอกาส แนะนำว่าเริ่มได้เลยแม้แต่ตอนนี้ที่พวกคุณได้เข้ามาอ่านข้อความนี้ ไม่ว่าจะเป็นปี 3 ปี 2 หรือแม้แต่ ปี 1 ไม่จำเป็นต้องรอปี 4 แม้ว่าเงื่อนไขการลงทะเบียนจะต้องเป็นปี 4 เท่านั้น การที่เราได้เข้าไปคลุกคลี ได้ไปทำงานในรูปแบบของงานวิจัย จะช่วยให้นักศึกษามีแนวคิดในเรื่องที่สนใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญต้องไม่ลืมแบ่งเวลาเรียน

ลงทะเบียนเทอมไหน

ปกติโปรเจ็กต์จะทำกัน 2 เทอมต่อเนื่อง (ไม่เกิน 3 เทอม หากเกิน 3 จะติด F) โดยบางคนจะลงเทอมแรก ขณะที่บางคนจะลงเทอมหลัง ซึ่งไม่มีผลอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าลงเทอมแรกเกรดจะออกเทอมหลังและเทอมแรกได้เกรด P ไป

 

credit Information from:https://civil.eng.cmu.ac.th/students/undergraduate/project